วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

Daiso's product review - 1. Spare blades of cutter

   ในปีนี้ ทุกๆวันที่ 25 ของเดือน จะขอแนะนำสินค้าจากร้าน 60 บาทค่ะ แนะนำเฉพาะตัวที่เด็ดๆ ใช้งานได้คุ้มราคานะคะ สินค้าที่แนะนำทุกชิ้น ซื้อหามาด้วยเงินตัวเอง ไม่ได้รับสปอนเซอร์จากไหนแต่อย่างใด
ในครั้งแรกของปี จะขอแนะนำชิ้นนี้ค่ะ

    เหมาะกับคนที่ใช้งานคัตเตอร์เยอะๆ และมักหวาดเสียวจะทำร้ายตัวเอง ตอนที่หักใบมีดบ่อยๆ ชิ้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือที่เก็บใบมีดพร้อมใบมีดจำนวน 10 ชิ้นสำหรับขนาดใหญ่ , 20 ชิ้นสำหรับขนาดเล็ก และที่หักใบมีด ที่ใช้งานง่าย แค่สอดใบมีดลงในกล่องให้รอยหักตรงกับปากกล่อง และกดคัตเตอร์เพื่อหักได้เลยค่ะ ใบมีดที่หักจะหล่นไปในกล่องอย่างปลอดภัย ไม่ต้องเสียวสยองว่าจะกระเด็นโดนหน้า ตัวนี้มี 2 ขนาด คือใบมีดขนาดกว้าง 8 และ 18 มิลลิเมตรค่ะ

    แอบอวด planner เล่มใหม่ที่แปลงร่างจากเล่มเก่าที่ได้รับแจกฟรีตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 2014 เอามาแปะด้วยสติ้กเกอร์กลมๆ ของ Croco  ให้น่าใช้มากขึ้นค่ะ จริงๆอยากซื้อใหม่ ยี่ห้อดังๆ อย่าง kikki-k หรือ webster's pages แต่ราคาแรงเหลือเกินค่ะ หลักพันบาทเลยเชียว (ยังไม่รวมค่าส่งนะคะ) เกรงใจเงินในกระเป๋า เก็บตังค์ไว้กินขนมดีกว่า บล็อคหน้าๆจะชวนเพื่อนๆมาตกแต่งแพลนเนอร์กันค่ะ

   เจอกันใหม่คราวหน้าค่ะ



วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

Tutorial : Monthly Expense pocket journal มาทำสมุดจดรายรับรายจ่ายกันเถอะ

      ปี 2559 นี้ตั้งใจไว้ว่า จะเริ่มวางแผนชีวิตอย่างจริงจังเสียทีค่ะ หลังจากปล่อยไปตามลมในปีก่อน แล้วเป้าหมายที่ตั้งไม่เสร็จสักเป้า ต้องโยกมาปีนี้ (อีกแล้ว) ซึ่งเราจะไม่แก้ตัวค่ะ ปีนี้เราจะมีตัวช่วย

      เริ่มจากเรื่องง่ายๆแต่สำคัญอย่างรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องแรก เมื่อปีก่อน พี่หนึ่งประสบปัญหาทำใบแจ้งหนี้หาย ---> บ่อยมากกกก แกะซองแล้วเอาไปวางไว้ตรงไหนไม่รู้ เวลาจะหยิบมาจ่ายก็หาเจอแต่ใบเก่าๆ จนอินเตอร์เน็ตที่บ้านเกือบโดนตัดแน่ะ เลยอยากจะได้สมุดจดที่สามารถเก็บบิล ใบแจ้งหนี้ไ้ด้วย ในเล่มเดียว ทีนี้สมุดจดในท้องตลาดมันไม่ตอบโจทย์ค่ะ ฮุฮุ ก็ต้องทำเองสิคะ

      สมุดเล่มนี้ได้ไอเดียจาก Flickr  บวกกับสมุดของ Midori Japan ค่ะ
      อุปกรณ์ที่ใช้ กระดาษ A4 สีตามชอบ กระดาษจั่วปัง กระดาษscrapbookหรือกระดาษอะไรก็ได้ที่เราอยากเอามาทำหน้าปก กาว กรรไกร คัตเตอร์ อุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องและอุปกรณ์เย็บเล่มแบบเกลียวพลาสติก (ถ้าใครไม่มี เอาไปให้ตามร้านถ่ายเอกสารทำให้ก็ได้ค่ะ ราคาประมาณ 20-30 บาท)
       มาทำกันค่ะ
1. นำกระดาษ A4 มา 1 แผ่น วางแนวนอน วัดจากมุมซ้ายบนมาทางขวา 4 นิ้ว ทำเครื่องหมายไว้ด้วยดินสอ จากนั้นทำเช่นเดียวกันกับมุมซ้ายล่าง แล้วลากเส้น


2. พับตามแนวที่เราลากเส้นไว้
3. หมุนตัวกระดาษ 90องศา และพับครึ่ง ให้ออกมาตามรูป จะเห็นว่าเราได้ใส้ในเป็นซอง 2 ฝั่ง 1 ชิ้นค่ะ
4. ทำเช่นนี้จนครบจำนวนหน้าที่อยากได้ สำหรับเล่มนี้ พี่ทำ 8 ชิ้น ใช้กระดาษ 8 แผ่น ได้ซอง16 หน้าค่ะ พักใส้ในเอาไว้ก่อน อาจทับด้วยของหนักทิ้งไว้ เพื่อให้รอยพับคม สวยงาม
5. ปก: ตัดกระดาษจั่วปัง หรือกระดาษแข็งที่มีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ในขนาดเดียวกับใส้ในที่พับแล้ว 2 ชิ้น
6. ตัดกระดาษหุ้มปกด้านนอก ให้ใหญ่กว่าตัวปกประมาณ 1.5 นิ้วด้านด้านกว้างและยาว จำนวน 2 แผ่น
7. ทากาวที่กระดาษจั่วปังให้ทั่ว ติดลงตรงกลางกระดาษห่อปก รีดให้เรียบ ตัดมุมทั้ง 4 ด้านให้เหลือพื้นที่เหนือกระดาษจั่วปังประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

8. ทากาวที่กระดาษหุ้มปกด้านยาว พับยกตัวปกขึ้น กดลงกับโต๊ะ และคว่ำปกลงรีดให้เรียบ ทำทั้ง 2 ด้าน



9. ใช้เล็บหรือปลายไม้บรรทัดจิกมุมปกตามภาพ และทากาวกระดาษหุ้มปกด้านสั้น พับยกตัวปกขึ้น กดลงกับโต๊ะ คว่ำลงรีดให้เรียบ ทำทั้ง 2 ด้าน




10. ทำให้ครบ 2 ปก
11. วัดปกที่ทำแล้ว ลบความยาวทั้งแนวนอนและแนวตั้งลง 4 มิลลิเมตร จดไว้
13. ตัดกระดาษสำหรับทำปกด้านในในตามที่วัดในข้อ11  2 ชิ้น
14. ทากาวที่กระดาษปกด้านใน ติดลงตรงกลางที่ปกด้านผิด
15. ทับปกทั้ง 2 ชิ้นด้วยของหนัก รอให้กาวแห้ง
16. จัดเรียงตามลำดับที่จะเย็บเล่มให้เรียบร้อย โดยวางใส้ในให้ฝั่งที่เปิดได้อยู่ตรงสันสมุดในขั้นตอนนี้ หากใครต้องการเพิ่มอะไร อย่างกระดาษโน้ตใส่ไปได้เลยค่ะ
17. เย็บเล่ม และตกแต่งเพิ่มเติมตามชอบ อย่างเล่มนี้ พี่เพิ่มปฏิทินลงไปในแต่ละซอง จะได้แยกเก็บบิลตามเดือนค่ะ การที่เราเย็บเล่มแบบเกลียวพลาสติก โดยไม่ปิดกาวที่ซองด้านที่เย็บเล่ม จะทำให้เวลาใส่บิลหนาๆ ซองไม่ขาดง่าย เพราะมีพื้นที่ให้ขยายตามรูป


    ส่วนวิธีใช้ พี่จะพิมพ์แบบฟอร์มสำหรับจดบันทึกรายรับรายจ่ายง่ายๆด้วย excel และตัดใส่ในซองไว้ด้วย เมื่อหมดเดือน ก็นำมาสรุปจดลงบนซองของเดือนนั้นอีกที
     ลองทำใช้กันดูนะคะ 


Pocket Letters , Let's Start ! (ซีรีย์ Pocket letters ตอนที่ 3)

        มาถึงบทความสุดท้ายของซีรี่ย์นี้กันค่ะ หลังจากเราหาเจ้า page protector ได้แล้ว เราก็มาเริ่มทำกันค่ะ รุ่นที่เราจะใช้ทำในวันนี้ มี 9 ช่อง แต่ละช่องใส่กระดาษขนาด 2.5*3.5 นิ้วได้พอดี เราจะเริ่มจากการใส่กระดาษแบคกราวน์กันก่อนค่ะ
        วันนี้อยากจะทำสีหวานๆสดใส เป็นแนวให้กำลังใจ เลยจะพิมพ์จาก Parcel Party Blog มาตกแต่งเพิ่มเติม ในลิงค์ที่ให้มีให้เลือก 2 แบบนะคะ พี่เลือกสีเทอร์ควอยซ์ค่ะ

         ข้อดีของการทำ Pocket Letters คือทำง่าย เสร็จเร็ว เพราะช่องมันเล็กนิดเดียว นอกจากนี้ยังส่งให้เพื่อนทางไปรษณีย์และเก็บสะสมไว้ง่ายอีกต่างหาก แต่นแต๊น เสร็จแล้วค่ะ


         สุดท้าย มีลิงค์มาแจก เป็นไฟล์กระดาษแบคกราวน์ของ Chelley Darling เอาไว้พิมพ์เองที่บ้าน สีสันน่ารักสดใสดีนะคะ Download

            แถมๆ Pocket Letters ในธีม Wonderland ที่เพิ่งทำเสร็จ ส่งแลกกับเพื่อนในไทยนี่แหละค่ะ ไม่ต้องลุ้นมากกับการส่งข้ามประเทศ


        



วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

อุปกรณ์สำหรับ Pocket Letters (ซีรีย์ Pocket letters ตอนที่ 2)

      เริ่มจากการหาซื้อ trading card page protector แบบที่มีรูด้านข้างเอาไว้ใส่ในแฟ้มก่อน หากหาซื้อไม่ได้จะใช้ซองพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่หาง่ายในร้านเครื่องเขียนขนาดใหญ่ที่บ้านเราก็จะมีขนาด A4 ที่แบ่งช่องย่อยๆเป็นขนาดต่างๆกัน เช่น ขนาดของนามบัตร เป็นต้น หรือจะประยุกต์ใช้ขนาด A4 ที่มีช่องเดียว แล้วใช้เครื่องปิดปากถุงซีลเพื่อแบ่งช่องก็ได้ค่ะ นี่เป็นรูป page protector ของอเมริกาจากร้าน walmart 
       
       trading card page protector ที่หาซื้อได้ที่Daisoที่เมืองไทยบางสาขา หายากเหมือนกัน เดินมาหลายสาขา เจอแค่สาขาเดียว (รูปด้านล่าง) ตัวเนื้อพลาสติกดูแตกต่างจากของอเมริกา ยังไม่ทราบความคงทน แต่คิดว่าน่าจะพอใช้ได้ เมื่อเทียบกับราคารวมค่าส่งจากอเมริกาแล้ว เดี๋ยวลองใช้งานจะมารีวิวอีกครั้งค่ะ ใครมีแหล่งซื้อที่อื่น บอกกันด้วยนะคะ (edit : ตอนนี้ไม่มีแบ่งขายแล้วค่ะ ขอโทษด้วย)

        ต่อไปเป็นกระดาษแบคกราวน์ที่จะใช้ใส่ในแต่ละช่อง จะใช้เป็นกระดาษคราฟท์ กระดาษสี กระดาษscrapbook แล้วแต่เราชอบเลยค่ะ แต่ควรจะมีความหนาพอสมควร อย่างน้อย 150 แกรม อย่าลืมนะคะว่า page protector ของเราสามารถโชว์ทั้ง 2 หน้า ถ้าใช้กระดาษที่มีลายหรือสีทั้ง 2 หน้าได้ก็จะประหยัดเวลาไปอีก ตัดทีเดียวได้ 2 หน้าเลย

         นอกจากนี้ของที่จะใช้ตกแต่งอื่นๆ ก็ประยุกต์ได้ตามชอบตามสไตล์และธีมที่ต้องการได้เลย เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ตกแต่งมีขนาดเล็ก ทำให้งานของเราง่ายและเสร็จเร็วขึ้นด้วยค่ะ
         
        ย้อนกลับมาที่การหาเพื่อนเพื่อแลก Pocket Letters กัน มีเว็บต่างประเทศของคุณ Janette Lane คนเดิม คือ Pocketletterpals ที่เปิดให้ลงโฆษณาเพื่อหาเพื่อนได้ แต่ถ้าสนใจจะแลกกันในไทย ทั้งแบบแลกจดหมาย ของจุกจิก และ Pocket Letters ตอนนี้พี่เพิ่งเปิดกลุ่มเอาไว้ สนใจก็ไปแจมกันได้ค่ะ Thailand Snailmail Club
      ครั้งหน้า เราจะมาเริ่มทำ Pocket Letter กันแล้วค่ะ